โรงเรียนบ้านมะขามเอน

หมู่ที่ 7 บ้านมะขามเอน ตำบล ท่าเคย อำเภอ สวนผึ้ง จังหวัด ราชบุรี 70180

Mon - Fri: 9:00 - 17:30

086 1735248

อาหารจานด่วน

อาหารจานด่วน

อาหารจานด่วน

อาหารจานด่วน ช่วงบ่ายหลังการสอบปลายภาค แคน ได้ชวน ขิม และ กรับ ไปร้านฟาสต์ฟูดที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งของจังหวัด ภายในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีร้านฟาสต์ฟูดหลายร้านให้เลือก ระหว่างที่เดินอยู่นั้น ขิมก็ถามเพื่อนที่สองคนว่า “พวกนายทำข้อสอบวิชาอาจารย์พิณได้ไหม โดยเฉพาะข้อที่ให้บรรยายเรื่องอาหารจานด่วนนั่นน่ะ” กรับตอบว่า “ได้ทำ แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้อย่างที่อาจารย์ต้องการหรือเปล่า” แคนเสริมขึ้นว่า “เหมือนกันเลย เราเริ่มต้นเขียนด้วยประวัติของอาหารจานด่วนก่อน เพราะจำได้ว่าจุดกำเนิดของอาหารจานด่วนอยู่ในอเมริกา ตอนนั้นเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมาเต็มไปหมด พอมีโรงงานมากก็ต้องใช้แรงงานมากขึ้นตามไปด้วย คนงานในยุคนั้นเขาต้องทำงานวันหนึ่งมากกว่า 12 ชั่วโมง จนแทบจะไม่มีเวลาอาหารหรือเวลาพักผ่อนเลย”

“นายตอบเหมือนเราเลย” ขิมกล่าวเสริมถึงสิ่งที่แคนพูด “แต่เรายังเขียนต่อไปอีกนะว่าเจ้าอาหารจานด่วนถึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองการดํารงชีวิตแบบอเมริกัน ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว จนทำให้อาหารจานด่วนได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนอเมริกัน ว่าแต่ช่วงเวลาที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม เริ่มตอนไหนนะ เราจำไม่ได้” กรับพูดขึ้นว่า “ราวๆ ปี ค.ศ.1930 แต่ต่อมาเมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมแบบอเมริกันแพร่หลาย อาหารจานด่วนจึงแพร่ขยายไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก”

กรับนิ่งไปพักหนึ่ง เหมือนจะนึกอะไรได้ “อันที่จริงข้อสอบข้อนี้ การตอบควรจะเริ่มต้นด้วยความหมายก่อนนะ เราเขียนไปในตอนต้นของคำตอบเกี่ยวกับคำว่า อาหารจานด่วน จะหมายถึง อาหารที่ประกอบแล้วปรุงเสร็จโดยใช้เวลาไม่นานนัก จากนั้นก็พร้อมส่งให้ผู้บริโภครับประทานได้ทันที” ก่อนที่แคนจะบอกเพื่อนๆ ว่า “คุยนานไปแล้ว จะกินอะไรกันดีล่ะ เราอยากกินแฮมเบอร์เกอร์ พวกนายว่าไง” กรับและขิมไม่ปฏิเสธ ทั้งหมดจึงเดินเข้าไปที่ร้านแฮมเบอเกอร์พร้อมกับสั่งอาหารและเครื่องดื่ม ระหว่างรออาหาร กรับก็ถามเพื่อนๆ ว่า “จำชื่อร้านอาหารจานด่วนแห่งแรกที่เข้ามาเปิดขายในไทย เมื่อปี พ.ศ. 2507 ได้หรือเปล่า” ขิมตอบว่า “ชื่อร้านวินนี่ ขายแฮมเบอร์เกอร์กับน้ำส้ม เปิดร้านที่ศูนย์การค้าราชประสงค์ ซึ่งตอนนั้นเป็นศูนย์การค้าทันสมัยแห่งแรกของกรุงเทพฯ ช่วงแรกก็มีลูกค้าไปอุดหนุนมากมาย เป็นเพราะสถานที่ตั้งของร้านสะดุดตา มีการตกแต่งร้านที่สวยงาม บรรยากาศเป็นกันเอง อีกทั้งอาหารอเมริกันก็เป็นของใหม่ที่น่าลิ้มลอง คนไทยในยุคนั้นให้การต้อนรับร้านขายอาหารอเมริกันร้านนี้เป็นอย่างดี แต่แปดปีต่อมากิจการก็ซบเซาลง สาเหตุจากการเปิดศูนย์การค้าราชดําริที่ฝั่งตรงข้าม เป็นผลให้ศูนย์การค้าราชประสงค์ซบเซาลงไปอย่างมาก ร้านวินนี่พลอยขาดลูกค้าไปด้วย จนสุดท้ายต้องปิดกิจการลง อ้าว เขาเรียกไปรับอาหารแล้ว” ทั้งหมดไปรับอาหารและเครื่องดื่ม ก่อนกลับมานั่งที่เดิม พร้อมกับรับประทานแฮมเบอร์เกอร์ที่สั่งมา

อาหารจานด่วนในยุคเริ่มแรกนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยยังมองว่า อาหารจานด่วนเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย เป็นสินค้าแฟชั่น ไม่มีประโยชน์หรือคุณค่าทางอาหาร กินไม่อิ่มเหมือนกินข้าว และราคาแพงเกินไป ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันนี้ “เมื่อตอนที่เดินผ่านร้านไก่ทอดข้างๆ เราเลยนึกขึ้นได้ว่าในข้อสอบเราลืมเขียนร้านอาหารจานด่วนที่เข้ามาในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อปีอะไรนะ” กรับถามเพื่อนๆ แคนก็เลยตอบว่า “ในปี พ.ศ.2518 นายหมายถึงร้านเคนตั๊กกี้ ฟรายด์ ชิคเก้น ใช่หรือเปล่า ที่มาเปิดแถวถนนสุขุมวิท” กรับตอบว่า “ใช่ แต่เราลืมเขียนลงไป น่าเสียดายชะมัดเลย” แคนเลยพูดต่อไปว่า “แต่ร้านนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนะ เพราะคนไทยไม่นิยม ก็ด้วยความที่ไก่ทอดไม่ใช่ของใหม่นะสิ ไก่ทอดไก่ย่างแบบไทยๆ อร่อยจะตายไป” หลังจากนั้นไม่นาน ในปี พ.ศ. 2520 ก็มีร้านโฮเบอร์เกอร์ เข้ามาเปิดกิจการที่สยามสแควร์ ร้านนี้ขายแฮมเบอร์เกอร์นานาชนิดรวมทั้งฮอทดอก และเครื่องดื่มหลายชนิด สภาพแวดล้อมภายในร้านก็ชวนให้เขามารับประทาน ใช้ภาพตกแต่ง เปิดไฟสว่างไสว รอบร้านเป็นกระจกใส ทำให้มองเห็นภายในร้านนี่คือความทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ลูกค้าก็ใช้บริการแบบบริการตัวเอง ทำให้มีลูกค้าวัยรุ่นตอบรับเป็นอย่างดี

ขิมพูดขึ้นหลังจากทานแฮมเบอร์เกอร์เสร็จ “จะว่าไปแล้วจุดเริ่มแบบจริงๆ น่าจะมาจากร้านโฮเบอร์เกอร์นะ เพราะหลังจากร้านนี้ประสบความสำเร็จ ก็ทำให้มีร้านอาหารจานด่วนอื่นๆ เปิดกิจการตามมาอย่าง ร้านสยามสเต็ก ขายฮอทดอก แฮมเบอร์เกอร์ แซนด์วิช เพียงแค่ไปตั้งเคาน์เตอร์อยู่ตามหน้าศูนย์การค้าต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมพอสมควร” อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานี้เองได้เกิดร้านจานด่วนแบบไทยๆ ขึ้นคือ ร้านข้าวแกงรามา ร้านศาลาโฟร์โมสต์ แต่ได้รับความนิยมไม่นานก็ล้มเลิกไป เนื่องจากเกิดข้อผิดพลาดหลายอย่าง เพราะผู้รับแฟรนไชส์ก็ไม่ทำตามข้อตกลง จนทำให้คุณภาพลดลง

หลังจากทุกคนรับประทานเสร็จเรียบร้อยจึงพากันออกจากร้าน ขณะเดินผ่านร้านขายโดนัท แคนก็บอกว่า “ในข้อสอบเราก็พูดถึงโดนัทร้านนี้ด้วยนะ เป็นร้านที่บริษัทไทยแฟรนไชส์ซิ่งจำกัด โดยกลุ่มจิราธิวัตน์ ได้นำมิสเตอร์โดนัทเข้ามาเริ่มต้นที่สยามสแควร์ ในปี พ.ศ. 2521 จากนั้นในปี พ.ศ. 2523 กลุ่มรอยัลอินดัสตรีส์ ซัพพลาย นำแฟรนไชส์ของ พิซซ่า ฮัทมาเปิดกิจการที่พัทยาเป็นแห่งแรก และประสบความสำเร็จพอสมควรจึงขยายสาขาเข้ามาในกรุงเทพฯ ” กรับเลยแวะซื้อโดนัทไปฝากน้องที่บ้าน หลังเดินออกมา กรับบอกเพื่อนๆ ว่า “เสียดายที่ห้างนี้ไม่มีดังกิ้น โดนัท” แคนเลยเล่าเรื่องที่ค้างต่อไปว่า “กลุ่มรอยัลอินดัสตรีส์ ซัพพลาย เขาเห็นความสำเร็จของมิสเตอร์โดนัท ก็เลยนำดังกิ้น โดนัท เข้ามาเปิดที่สยามสแควร์เป็นแห่งแรกในปีต่อมาน่ะ” จากนั้นมาก็มีอาหารจานด่วนอื่นๆ เริ่มทยอยเข้ามา เอแอนด์ดับบลิว รูทเบียร์ เคนตั๊กกี้ ฟรายด์ ชิคเก้น แดรี่ควีน และบริษัทผู้นำร้านอาหารจานด่วน คือ แมคโดนัลด์ ในปี พ.ศ.2528

ระหว่างที่รอรถประจำทาง ขิมพูดกับเพื่อนว่า “เดี๋ยวนี้คนไทยนิยมอาหารจานด่วนมากขึ้นนะ ผิดกับช่วงแรกที่ไม่ได้รับความนิยมจากคนไทยเท่าใดนัก เพราะราคายังแพงเมื่อเทียบกับข้าวราดแกง แต่กลับรู้สึกว่าไม่อิ่มเหมือนรับประทานข้าว จนมาถึงยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู คนมีรายได้มากขึ้น วัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาไทยมากขึ้น จนเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทย” กรับก็เลยเสริมอีกว่า “ธุรกิจพวกนี้ก็ประชาสัมพันธ์จูงใจรวมถึงจัดโปรโมชั่นดึงให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้บริการ อาหารจานด่วนจึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนถึงตอนนี้ไงละ” หลังจากที่รถประจำทางมาถึง แต่ละคนก็แยกย้ายกันกลับบ้าน